ศูนย์วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ และศูนย์การเรียนรู้แห่งประเทศต้องแค่ไหนถึงจะดีพอ

By | 15/02/2020

ขึ้นชื่อว่า “แห่งชาติ” หรือแม้แต่ “ประจำเมือง” ก็ควรสร้างให้เป็นที่จดจำและพูดถึงในแง่ดี และอยากมาเยือนอีกหลายๆ ครั้ง

ไม่ใช่แค่ดีไซน์ของสถาปัตยกรรม ซึ่งตอนนี้ไม่ว่ามิวเซียม ศูนย์วัฒนธรรม และแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ พากันสร้างจุดเด่นสะดุดตา แต่บริบทของสถานที่นั้นคือสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เราอิ่มเอมใจนอกเหนือไปจากความดีงามของนิทรรศการที่ตั้งใจไปชม หรือคอนเสิร์ตที่ตั้งใจไปดู

นักเดินทางอาจสนุกกับการค้นหามิวเซียมเล็กๆ ซึ่งซ่อนตัวในตรอกลึก ที่ให้ความรู้สึกดีดี และได้มุมถ่ายภาพไม่เหมือนใคร แต่ถ้าขึ้นชื่อว่าศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ ศูนย์การเรียนรู้แห่งประเทศ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประจำเมือง ฯลฯ ที่เป็นรวบรวมวัฒนธรรมต่างๆ ให้คนไม่ว่าจะในพื้นที่เองหรือนักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้ สัมผัส ซึมซับวัฒนธรรม ถือว่าเป็นหน้าตาของชาติ ก็ต้องมีอะไรมากกว่านั้น

อาคารสถานที่ชวนให้ประทับใจตั้งแต่แรกเห็น
งดงามระดับเป็นไอคอนขึ้นโปสการ์ด อยู่บนแมกเน็ตติดตู้เย็น แต่ไม่ใช่ประเด็นทั้งหมด ศูนย์วัฒนธรรมหรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลายแห่งปรับปรุงจากอาคารประวัติศาสตร์ ซึ่งมีเรื่องราวชวนประทับใจมากพอๆ กับออกแบบโดยสถาปนิกดังระดับโลก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายนอกไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ แต่จะทำอย่างไรให้โครงสร้างภายในถูกออกแบบใหม่ให้เหมาะกับการใช้งานที่เปลี่ยนไป

การเดินทางเข้าถึงง่าย
ส่วนมากสถานที่แห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมสำคัญประจำเมืองหรือแห่งชาติ จะง่ายต่อการเข้าถึง เช่น สถานีรถไฟ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีป้ายรถเมล์ให้ลงได้ไม่สับสน แม้ว่าหลายแห่งจะเป็นอาคารเก่าแก่ที่ไม่ได้อยู่ในแผนการพัฒนาผังเมืองใหม่ แต่จริงๆ ก็ควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสะดวกสบายมากที่สุด เคยไป Kunstmuseum Luzern พิพิธภัณฑ์ศิลปะประจำเมืองลูเซิร์น สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 1933 แค่ขึ้นจากสถานีรถไฟลูเซิร์น ขวาหันเดินข้ามถนนไปก็ถึงเลย แถมยังอยู่ติดกับทะเลสาบลูเซิร์น มีระเบียงกว้างใหญ่ให้นั่งชมวิว ไม่ได้มีแต่ห้องแสดงนิทรรศการศิลปะ แต่ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ ฮอลล์ ห้องประชุม พื้นที่สำหรับกิจกรรมหลากหลาย ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าที่นั่นคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาใช้เวลากับสถานที่นี้มากแค่ไหน

หรือ ที่ SMK – Staten Museum for Kunst หรือหอศิลป์แห่งชาติเดนมาร์ก ก็ลงจากป้ายรถเมล์ ที่มีอยู่สารพัดป้ายจากหลายทิศทางมุ่งสู่ที่นี่ เดินข้ามถนนทีเดียวก็ถึงเลย ตัวหอศิลป์สร้างขึ้นในช่วง 1889–1896 ตามอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมสไตล์เรเนสซองส์ ข้างนอกดูอลังการคลาสสิค แต่ภายในโมเดิร์นมาก ประทับใจน้ำพุหน้ามิวเซียมที่พอถึงหน้าร้อนเด็กๆ ก็ลงไปเล่นกันสนุกสนาน ผู้ใหญ่เอาเก้าอี้สนามไปกางนั่งแช่น้ำในนั้น หอศิลป์แห่งชาติก็มีความเข้าถึงง่ายๆ ด้วยบรรยากาศแบบนี้เช่นกัน

สภาพแวดล้อมอันน่าจดจำ

ภูมิสถาปัตย์หรือการออกแบบพื้นที่โดยรอบให้สัมพันธ์กับตัวอาคาร สถานที่ตั้ง การเลือกวิว มุมมอง สำคัญมาก เคยไปพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในญี่ปุ่น เช่น Hokkaido Museum of Modern Art พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยฮอกไกโด จัดว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำภูมิภาคเลย การเดินทางไม่ได้เข้าถึงง่ายมาก ต้องเดินต่อไปจากสถานีรถไฟประมาณ 400 เมตร แต่บาทวิถีเขาดีมาก ทำให้รู้สึกไม่ลำบาก

แต่ประเด็นก็คือ ที่นี่มุมหนึ่งหันหน้าเข้าหาสวนด้วยผนังที่เป็นกระจกเปิดโล่งผืนใหญ่ ให้เราสามารถจิบกาแฟนั่งนิ่งๆ พักอยู่ตรงนั้นได้เกือบชั่วโมง การออกแบบภายในไม่ได้สวยสะดุดตา แต่เพราะแสงธรรมชาติและการได้จ้องมองธรรมชาติมันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการผ่อนคลายจริงๆ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งของญี่ปุ่นก็ไม่ได้เข้าถึงง่ายขนาดเดินออกจากสถานีแล้วเจอเลย แต่ที่ใดต้องขวนขวายไป ที่นั่นจะมีการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่กินขาด (สวน วิว สนามหญ้า ลานพักผ่อน ฯลฯ) สร้างความประทับใจให้ไม่รู้ลืม

พื้นที่แบบ Mixed Use คือสิ่งที่ตอบโจทย์คนในปัจจุบัน Sydney Opera House ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 1973 ไม่ได้แสดงแต่โอเปรา แต่มีการแสดงหลากรูปแบบ กลายเป็นแลนด์มาร์คของประเทศด้วยตัวสถาปัตยกรรมเองและสถานที่ตั้ง แต่ละปี Sydney Opera House สามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากกว่า 700 ล้านเหรียญ ความเก่าแก่ไม่ใช่ข้อแก้ตัว เพราะที่นี่มีการปรับปรุงสถานที่อยู่เสมอ มีพื้นที่เพื่อกิจกรรมสันทนาการมากมาย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย มีภัตตาคารวิวร้อยล้าน ชื่อโอเปราคือหนึ่งในวัฒนธรรมซึ่งหมายรวมถึงความหลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้ตามกิจกรรมที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนมาเยือน

นั่นคือแลนด์มาร์คกระดับโลกนะ จะมาเปรียบกันก็เกินไป แต่ในความเป็นระดับชาติ อย่างน้อยๆ ต้องมีร้านอาหารหรือคาเฟ่บรรยากาศดีๆ สักแห่งเป็นที่พึ่ง ที่จอดรถก็ต้องเพียงพอ ถ้าไม่ได้อยู่ในจุดที่ขนส่งมวลชนเข้าถึงง่าย หรือถ้าจะต้องเดิน บาทวิถีก็ต้องดี ทัศนียภาพต้องเอื้ออำนวย

หลังบ้านการดูแลศิลปิน

ในฐานะที่เคยเป็น Groupie ของวงอินดี้สมัยหนึ่ง (ไม่อยากบอกยุคเลย) เคยติดตามกลุ่มศิลปินไปทัวร์คอนเสิร์ตเล็กๆ ที่ประเทศเยอรมนี เอาล่ะ ยอมรับว่าที่นั่นคือคลับ ความยืดหยุ่นของกฎระเบียบต่างๆ ไม่มีทางเหมือนศูนย์การแสดงระดับชาติอยู่แล้ว แต่ห้องพักศิลปินที่เขาจัดให้นั้น สบายมาก พรั่งพร้อมไปด้วยอาหารเครื่องดื่ม ให้ศิลปินผ่อนคลาย ห้องรับรองของศิลปินตามคอนเสิร์ตต่างๆ ในไทยก็น่าจะไม่ต่างกัน ต้องพร้อมเติมพลังให้กับศิลปินที่ต้องปล่อยเต็มกับการแสดงของเขา กฎระเบียบบางอย่างก็น่าจะปรับเปลี่ยน หรืออยู่ในความควบคุมได้เช่นกัน

การสร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้ใช้งาน

การออกแบบบริการในปัจจุบันต้องทำความเข้าใจเรื่องแนวทางของลูกค้า (Customer Journey) และเข้าใจเรื่องการนำผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (User Center)ให้มาก ทุกวันนี้เรื่อง Customer Journey ถูกนำไปใช้ติดตามพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในโลกดิจิทัล แต่การออกแบบสถานที่มันคือเส้นทางการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 6 จริงๆ

บางทีผู้ใช้อาจไม่รู้สึกหรอกว่าความสะดวกนี้มาจากอะไรนะ แค่รู้ว่าดีจังที่มีแบบนี้ด้วย (เช่น พิพิธภัณฑ์ที่มีตู้กดน้ำฟรีสำหรับประเทศที่ไม่นิยมใช้พลาสติก ห้องน้ำที่ป้ายเห็นชัด สะอาดสะดวกสบาย ตู้ล็อกเกอร์สำหรับเก็บของ ฯลฯ) รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้สำคัญหมด ยิ่งในโลกออนไลน์ที่การรีวิวเป็นเรื่องใหญ่นะ

จริงๆ ทุกอย่างคือการออกแบบประสบการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบของผู้ใช้ ที่อยากทำให้เขากลับมาอีกไหม บางทีเขาอาจกลับมาเพราะการแสดงที่เขาอยากชมจริงๆ แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้สำหรับความไม่สะดวกสบายสำหรับบางสถานที่

นี่รักนะถึงพูด