ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร

By | 20/04/2021

ที่อยู่โรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม หมู่ที่ 7 ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี
เมืองโบราณซับจำปาเป็นเมืองโบราณประมาณยุคทวารวดี มีร่องรอยคูน้ำคันดินและหลักฐานโบราณวัตถุที่พบในอ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี และสิ่งที่อยู่คู่กับเมืองโบราณ คือป่าจำปีสิรินธรเป็นจำปีสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบเฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น บริเวณเมืองโบราณซับจำปาซึ่งมีทั้งประวัติศาสตร์ของชุมชนและต้นไม้อันมีคุณค่า ทางหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่จึงช่วยกันจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร” ขึ้นที่โรงเรียนท่าหลวงวิทยาคมศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธรดูแลโดย “ชมรมอนุรักษ์เมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร” คุณเนตรนรินทร์ คำเรืองบุญ นายกอบต.ซับจำปา เป็นประธานชมรมฯ ร่วมกับโรงเรียนท่าหลวงวิทยาคมได้สละพื้นที่ส่วนหนึ่งในโรงเรียนทำเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองโบราณซับจำปา มีการจำลองผังเมืองโบราณบริเวณสนามหญ้าหน้าห้องสมุดจัดเป็นคูน้ำคันดิน ในจุดที่พบซากโบราณสถานบริเวณกลางเมือง และส่วนที่เป็นป่าจำปีสิรินธร โดยมีต้นแบบมาจากภาพถ่ายทางอากาศ กล่าวกันว่าที่เมืองแห่งนี้ชื่อซับจำปาเพราะในสมัยโบราณชาวบ้านเข้าใจว่าต้นจำปีสิรินธรที่ขึ้นอยู่ใกล้บริเวณเมืองเก่านั้น คือต้นจำปา และบริเวณรอบๆ นั้นก็เป็นแหล่งน้ำซับที่มีต้นสายมาจากป่าดงพญาเย็นทำให้มีน้ำจากใต้ดินไหลออกมาตลอดปีชาวบ้านบริเวณนี้เรียกว่า “ซับจำปา”

ภายในอาคารจัดแสดงรูปสลักกวางหมอบและรูปสลักพระพุทธเจ้าบนแผ่นหินจำลอง พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี อิฐ เสาหิน และมีภาพถ่ายเช่น ภาพถ่ายทางอากาศของเมืองโบราณซับจำปาที่บอกถึงจุดสำคัญๆ ของเมืองโบราณไว้อย่างเช่น แนวคูเมือง กำแพงเมือง เนินโบราณสถานในเมือง ลำธารที่ไหลผ่านตัวเมืองโบราณ ภาพถ่ายเศียรพระพุทธรูปหินทรายสลักแต่ปัจจุบันโบราณวัตถุชิ้นนี้นำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ภาพถ่ายของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาเยี่ยมชมการขุดค้นเมืองโบราณซับจำปาเมื่อพ.ศ. 2529 มีแผนที่อาณาจักรโบราณยุคทวาราวดีในประเทศไทย โบราณวัตถุที่พบมากที่สุดคือ เศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผารูปทรงต่างๆ มากมายซึ่งทางศูนย์ข้อมูลฯ ได้นำเศษภาชนะที่พบมาจัดแสดงไว้ด้วย ตู้จัดแสดงลูกปัดที่ทำจากเปลือกหอย ลูกปัดสี กำไลสำริด เครื่องมือเหล็กเช่น หอก ขวานรูปนกและรูปทรงต่างๆ มีการนำขวานหินขัดมาจำลองใส่ด้ามให้เหมือนการใช้งานในสมัยโบราณ ตู้จัดแสดงแวดินเผาและเศษภาชนะชิ้นสำคัญเช่น ตะเกียงดินเผา ตุ๊กตาดินเผา

ส่วนต่อมาได้จัดแสดงเกี่ยวกับต้นจำปีสิรินธร ในสมัยก่อนตามเข้าใจของชาวบ้านเรียกตามๆ กันมาว่าต้นจำปาและเป็นที่มาของชื่อชุมชนซับจำปา แต่เมื่อ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผอ.โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จำปา ได้นำตัวอย่างไปวิเคราะห์ทำให้ทราบว่าเป็นต้นจำปีสายพันธุ์ใหม่ของโลกพบที่นี่แห่งเดียวเท่านั้นจึงได้ขอพระราชทานนามตั้งชื่อใหม่ว่า “จำปีสิรินธร” มีลักษณะเฉพาะคือขึ้นอยู่ในป่าพรุน้ำจืด รากของต้นจะไม่ลงลึกในดิน แต่จะขยายตัวเป็นพูพอนอยู่บนดินที่ชุ่มชื้นไปด้วยน้ำซับเท่านั้น ความสูงต้นเฉลี่ยประมาณ 20–30 เมตร ในพิพิธภัณฑ์ได้นำดอกมาดองไว้ในโหลให้ผู้ที่เข้าชมได้เห็นใกล้ๆ นอกจากนี้ยังนำเนื้อไม้ของต้นจำปีที่ล้มแล้วมาให้สัมผัสและศึกษากันอย่างใกล้ชิด

มุมต่อมาจัดแสดงเรื่องวิถีชีวิตของชาว อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เริ่มจากเครื่องชั่งน้ำหนักของสินค้าเกษตรพืชไร่ต่างๆ มีเครื่องสีฝัดสมัยก่อนมาตั้งแสดงด้วย เมื่อเดินออกจากส่วนจัดแสดงด้านหลังบอร์ดนิทรรศการยังมีป้ายให้ความรู้เรื่องการทำลูกปัดแบบโบราณ อีกด้านของห้องเป็นห้องสมุดของโรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม
ผู้ที่สนใจการท่องเที่ยวสามารถติดต่อชมรมอนุรักษ์เมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธรทางชมรมฯ จะจัดเจ้าหน้าที่และรถนำชมไปจนถึงเมืองโบราณซับจำปาพร้อมกับมีผู้นำชม เปิดทำการ จันทร์-ศุกร์ ในเวลาราชการ การเยี่ยมชมติดต่อล่วงหน้า โทร. 036-461992