ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เขาย้อย

By | 16/07/2020

ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เขาย้อย

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้มีความน่าสนใจใน 2 ระดับด้วยกัน นั่นคือ การก่อตัวของศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่เชื่อมโยงกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในช่วงทศวรรษ 2540 และศูนย์วัฒนธรรมฯ ในสังกัดของเทศบาลเขาย้อย ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองท้องถิ่น ทั้งการดึงงบประมาณเพื่อการขยายงานของศูนย์วัฒนธรรมฯ ให้เป็นที่พักขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก จนถึงความซบเซาของการทำงาน จากการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารเทศบาล ในจุดนี้ แม้ศูนย์วัฒนธรรมฯ จะเคยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนไทยทรงดำในระยะของการก่อตั้ง แต่ด้วยสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ระดับของความร่วมมือของชุมชน กลับเปลี่ยนแปลงและเกิดภาวะของความไม่ต่อเนื่องในการทำงาน

หากพิจารณาจากรูปลักษณ์และการจัดแสดง ศูนย์ฯ ยังคงทำหน้าที่ให้ภาพของความเป็นอยู่ในอดีตของคนไทยทรงดำได้อย่างเนื่องๆ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีบุคคลภายนอก เช่น ผู้เขียน หรือคณะดูงานจากหน่วยงานการปกครองท้องถิ่น ศูนย์ฯ ยังคงแสดงบทบาทของการถ่ายทอดลักษณะเฉพาะถิ่นหรือเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์

ผู้เขียนขอนำเสนอเนื้อหาเป็น 2 ช่วงด้วยกัน คือ

(1) การก่อตัวและการเปลี่ยนผ่านการบริหารศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย

(2) การจัดแสดงและการใช้ประโยชน์ของศูนย์วัฒนธรรมฯ ในปัจจุบัน รวมทั้งความเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง

1. การส่งเสริมท่องเที่ยวในระดับประเทศ และการก่อตัวของหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรม
“…เขาย้อย ไม่มีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวอย่างอื่น นอกจากถ้ำเขาย้อยอย่างเดียวเท่านั้นเอง นอกนั้น ไม่มีอะไร แต่เรามีลาวโซ่ง ซึ่งมีหนาแน่นพอสมควร แล้วลาวโซ่งในเขตอำเภอเขาย้อยก็มากที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี ก็คุยกันว่า ผมจะทำหมู่บ้านของผมเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวได้ไหม คือทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างอื่น เราไม่มี นอกจากวัฒนธรรมประเพณีลาวโซ่ง ผอ. เขาดีใจมากที่คนคิดอย่างนี้ เพราะเดี๋ยวนี้ อีโคทัวร์ เขานิยมกันมาก เขาส่งเสริมกันมาก การเอาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นขึ้นมาสู่สายตาชาวโลก มาโอ้อวดกันได้ เรียกว่าอนุรักษ์ตรงนี้ เป็นสิ่งที่การท่องเที่ยวในยุคนั้นต้องการ”  อดีตกำนันประนอม สืบอ่ำ เท้าความถึงที่มาของการส่งเสริมการท่องเที่ยวหมู่บ้านไทยทรงดำ ในสมัยราวปี 2539-2540 บทสนทนาที่อดีตกำนันประนอมกับผู้อำนวยการท่องเที่ยว เขต 2 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว กล่าวถึงนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ร่วมจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวที่กรุงเทพมหานคร โดยการรับเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีในยุคนั้น

เมื่อความคิดดังกล่าวเริ่มเป็นที่สนใจของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนได้ อย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อดีตกำนันประนอม ได้จัดเวทีเพื่อระดมความเห็นและความเห็นชอบในการพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศ “ผมเชิญมา 22 คน ก็นั่งกันเต็มห้อง ผอ. [การท่องเที่ยว เขต 2– ผู้เขียน]เขาก็คุยด้วยแนวคิดที่ว่า อยากยกหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ทำโฮมสเตย์ด้วย แต่ตอนนั้น แนวคิดโฮมสเตย์ ผมไม่เคยไปดูงานที่ไหน เคยดูซีดีของลานสกาของนครศรีธรรมราชที่เคยถูกน้ำท่วมไป บ้านคีรีวงศ์ เขามีโฮมสเตย์ มีระบบนิเวศที่เป็นเรือกสวนไร่นาและป่าธรรมชาติ ดูแล้วก็ชอบใจ เมื่อคีรีวงศ์ทำได้ มีคนไปพัก แล้วไกลกรุงเทพด้วย เขายังทำได้เลย ผมก็เอาแนวคิดมา หากทำโฮมสเตย์ แล้วเอาคนมาพักค้างในบ้าน ไม่ใช่การสร้างเป็นบ้านที่ออกจากชุมชน 

แต่แนวคิดโฮมสเตย์ของผม คือ ‘โฮม’ จริงๆ คือนอนคุยกับเจ้าของบ้าน ตื่นเช้าขึ้นมา หรือมื้อเย็นก็แล้วแต่ก็กินข้าวกับชาวบ้าน ก็คุยอยากจะรู้ประเพณีวัฒนธรรมอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ทำอย่างที่ชาวบ้านเขาทำ หรือหากเขาอยากทำเลือกสวนไร่นา หากมีเวลาและเขาเต็มใจก็ทำกับเขาได้ ก็ใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้ชีวิตซึ่งกันและกัน” [เน้นโดยผู้เขียน]

ในทัศนะของอดีตกำนันประนอม แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และยังให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมไว้ว่า “ผอ. [การท่องเที่ยว เขต 2] ก็ให้คำแนะนำว่า  หนึ่ง ต้องเอาคนก่อน คนในบ้านต้องรับเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่พ่อแม่รับแขก แล้วลูกหรือหลานมานั่งหน้างออยู่อย่างนั้นไม่ได้ ทุกคนในบ้านที่จะเข้าโครงการโฮมสเตย์ของเรา ต้องพร้อมที่จะรับแขก ยิ้มแย้มแจ่มใส  อันที่สอง บ้านช่องเรือนชานต้องสะอาด ไม่ต้องหรูหราทันสมัย บ้านเรานอนมุ้ง เราก็นอนมุ้ง บ้านเรานอนเสื่อสาด เราก็นอนเสื่อสาด  ที่นอนก็นอนเหมือนกัน บ้านคนลาวส่วนมากจะไม่มีห้อง ไอ้ที่มีห้องก็คือ เป็นห้องผีเรือน แต่คนนอกเข้าไปนอนไม่ได้ นอกจากคนในบ้านนอนได้ ทีนี้ เมื่อบ้านพร้อม ครัว ห้องน้ำ ไม่ต้องหรูหรา แต่ทุกอย่างต้องสะอาด นักท่องเที่ยวมาแล้วให้เขามีสุขภาพจิตที่ดี ประการที่สาม การเตรียมพร้อมที่จะต้องรับแขกบ้างพอสมควร เช่น  หากมีแขกต่างประเทศมา ก็เรียกเขากินข้าวได้ เอาศัพท์ง่ายๆ คนเฒ่าคนแก่ ก็มาเรียนภาษาอังกฤษกันเฮฮา คนลาวพูดภาษาอังกฤษ ก็นึกเอาแล้วกัน พูดไทยยังไม่ชัดเลย เรียนกันก็สนุกสนานเฮฮากันไป ผมก็เอาเจ้าหน้าที่โรงแรมที่ชะอำคนหนึ่ง  ขอเป็นอาสาสมัครมา เขาก็ไม่เอาอะไร ช่วยค่ารถเข้า ราวๆ ยี่สิบกว่าวัน ประมาณไม่ถึงเดือน เขาก็มาสอนให้ เขาก็มาเรียนเฮฮากัน นั่นคือการจุดประกายที่เราจะทำโฮมสเตย์”

การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวในระยะแรก ยังไม่ได้มีการทำศูนย์วัฒนธรรมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จะต้องอาศัย “เฮือนลาว” ที่สร้างไว้ที่ตำบลทับคาง จึงเรียกได้ว่า การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวในระยะนั้นดูจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับบุคคลภายนอกผ่านการจัดงานต้อนรับ การเข้าพัก หรือการไปเยี่ยมชมพื้นที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน “วันที่เปิดหมู่บ้านโฮมสเตย์ ผมทำพิธีที่หน้าสหกรณ์ ไม่ได้ทำที่นี่ เพราะตอนนั้น ที่นี่ยังไม่มีอาคารอะไรเลย เปิดหมู่บ้านโฮมสเตย์ขึ้นมาก่อน เชิญผู้ว่าฯ มา เชิญแขกหลายร้อย ก็มีทางจังหวัด เอาช่างมาถ่ายทีวี ไปออกช่อง 11 พอหลังจากออกข่าวในวันนั้น เปิดโฮมสเตย์ วัฒนธรรมประเพณีของไทยทรงดำเป็นอย่างนี้ๆ รายการต่างๆ ทุกรายการ ทุกช่อง ทยอยมาถ่ายทำ”

อดีตกำนันประนอมยังเล่าถึงความประทับใจที่มีโอกาสต้อนรับผู้มาเยือนในครั้งแรก “แขกคณะแรกที่มานอนโฮมสเตย์เป็นแขกชาวเยอรมัน มาคณะใหญ่ มานอน 4-5 วัน มานอนแล้วก็จัดงานรื่นเริง ตอนนั้น ค่าใช้จ่าย คนพามาเป็นคนออก เป็นไกด์สมัครเล่น เขาไปเรียนเยอรมัน รู้จักคนพวกนั้น แล้วก็พามาเที่ยวเมืองไทย เลยอยากพามาที่นี่ เขาก็ออกค่าใช้จ่ายในการดูแลต้อนรับให้ ก็ไม่ทั้งหมด แต่ตอนนั้น เราก็ ‘เห่อ’ แขกอยู่ พอเวลาพาไปที่ต่างๆ ก็เอาไปรถผม กินอยู่หลับนอน เวลากลางคืน มีงานรื่นเริง มีอาหาร ก็สนุกสนานกัน”

“พอทำโฮมสเตย์ ก็น่าจะมีศูนย์วัฒนธรรมฯ หรือบ้านลาว ก็คุยกับชาวบ้าน ผมพิมพ์เป็นกระดาษ เอ 4 พิมพ์แล้วแจกไปตามบ้านต่างๆ ขอความร่วมมือ เพราะเราไม่มีงบประมาณตรงนี้ ขอความร่วมมือว่าใครมีอะไรที่จะสนับสนุนการสร้างบ้านลาวสักหลังหนึ่งไหม การตอบรับดีมาก ใครมีเสาให้เสา ใครมีโอ่งอะไร เก่าๆ ก็ยินดีจะให้เรา คนนี้จะให้ห้าร้อย คนนั้นจะให้พันหนึ่งก็มี แม้กระทั่งหมู่บ้านอื่น ที่เขารู้ข่าว ไม่ใช่หมู่บ้านของเรา เขาก็มาหา อยากช่วยสามร้อยห้าร้อย มีเสา มีของ ก็ยินดีที่จะช่วย ผมก็รวบรวม แล้วก็ทำบัญชีว่าใครจะให้อะไร แล้วก็รวบรวมวัสดุสิ่งของตามบัญชีก็พอสมควร แล้วตัวเงินก็สองสามหมื่นก็ได้ เวลาพอจะทำ ชาวบ้านก็อาสาสมัคร ช่วยกันทำ ตั้งใจว่าทำหลังเล็กๆ”ความตื่นตัวของคนในหมู่บ้านในการสร้างสัญลักษณ์อันสะท้อนความเป็นไทยทรงดำหรือลาวโซ่งหรือ “เฮือนลาว” มีให้เห็นอย่างมีชีวิตชีวาตามน้ำเสียงของอดีตกำนันประนอม

กำนันฯ ยังให้รายละเอียดเสริมด้วยว่า ในเวลานั้นเดินทางไปดูตัวอย่างเรือนลาวที่หลงเหลืออยู่ “บ้านตัวอย่างหลังหนึ่งที่แม่ประจัน ท่ายาง ไปทางเขื่อนเพชรฯ ที่จะออกแก่งกระจาน พวกเราทุกคนที่ทำ จะไปดูบ้านตัวอย่างที่นั่น… เจ้าของตายไปแล้ว แต่บ้านอยู่หรือเปล่าไม่รู้ ตอนนั้น ถามว่ากรมศิลป์ฯ เข้าไปดูไหม ก็ว่าเข้าไปดู บอกว่าให้ช่วยอนุรักษ์ไว้ แต่ไม่เคยช่วยงบประมาณ ส่วนเจ้าของบ้านในชั้นลูกชั้นหลาน รุ่นใหม่ๆ จะเอาไว้หรือเปล่า ไม่รู้ เพราะมันเก่าเข้าก็อันตราย ตอนที่ผมไปก็เก่ามาก ถ่ายรูปเก็บรูปมาแล้วก็มาสร้างตามแบบของเขา”

อย่างไรก็ดี เมื่อจะเริ่มดำเนินโครงการ กำนันได้ประสานงานกับ “ทางอำเภอ” และทาง “พัฒนาชุมชน” และได้รับคำแนะนำว่า “กรมการปกครองมีงบประมาณอุดหนุนกรณีจำเป็นเร่งด่วนอยู่จำนวนหนึ่ง กำนันเป็นกำนันก็สามารถขอได้ เราอยู่กรมการปกครอง ก็ทำเรื่องขอไป กรมการปกครองก็ใจดี ให้มาห้าแสน  แต่ว่า การเบิกใช้งบประมาณ ก็ต้องให้หน่วยราชการไปขอเบิก ตอนนั้น เริ่มมี อบต. เริ่มแรกยังไม่มีการเลือกตั้ง โดยเรียกตำแหน่งผู้บริหารว่า ‘ประธานกรรมการบริหาร อบต. ซึ่งกำนันเป็นโดยตำแหน่ง ผมก็เป็นประธาน อบต.

“แม้ อบต. จะอยู่นอกเขตสุขาภิบาล ยังไม่ใช่เทศบาลในตอนนั้น แต่มันต้องตั้งอยู่ตรงนี้ อำเภอก็ว่าได้ เอามาแล้วตั้งตรงไหนก็ได้ ขอให้มีก็แล้วกัน ถึงแม้มันผิดที่อะไรบ้าง แต่ทางอำเภอก็ไม่ว่า ตอนนั้นได้มาห้าแสน ที่ว่าจะให้เสา ให้เงินให้ทอง ไม่เอาแล้ว เพราะห้าแสนนี่พอ เหลืออีก เอาเงินไม่เอา แต่ของเราอยากได้ เป็นของที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้ นอกจากเขาให้ เราก็เอาของพวกนั้น ที่ไฟไหม้ไป ผมก็เสียดาย เพราะผมใช้พื้นไม้กระดาน ซื้อเสาต้นโตๆ มา เพราะมีเงิน เอาทำ แล้วไม้ของใหม่ทั้งนั้น ของเก่าๆ ก็เอามาทำ เงินยังเหลือ ก็เลยได้อีกหลังหนึ่งเป็นหลังถัดไป ไม่ได้ยกพื้นสูง ทำเพื่อเป็นอาคารอเนกประสงค์แต่ก็ทรงลาว เพราะต้องการให้มีห้องสำหรับขายของเก็บของ มีสินค้าที่ทำออกมาขาย”

ในทัศนะของกำนันประนอม ศูนย์วัฒนธรรมฯ “ต้องมีชีวิต ต้องมีคน ต้องมีเด็ก ผู้ใหญ่ มีคนเฒ่าคนแก่ มาอยู่เพื่อการเรียนรู้กัน คนเฒ่าคนแก่ได้สอนลูกหลายเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งประเพณีรื่นเริง ให้คนแก่ได้ถ่ายทอดมาสู่เด็ก ศูนย์ฯ ของเราพอสร้างเสร็จ ใครๆ ก็อยากมาดู” อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์และสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ สร้างความสนใจของหน่วยงานราชการและสื่อมวลชนที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำหรือลาวโซ่งมีเพิ่มขึ้นมาก

เมื่อผู้เขียนรับฟังมาข้อมูลมาระยะหนึ่ง กลับเกิดข้อสงสัยว่า ในท้ายที่สุดแล้ว หมู่บ้านโฮมสเตย์และศูนย์วัฒนธรรมจัดทำขึ้นเพื่อสิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่างการสื่อสารให้สังคมภายนอกได้รู้จักเอกลักษณ์วัฒนธรรมกับการสืบสานประเพณีและความรู้ของท้องถิ่น ผู้เขียนหยิบยกประเด็นนี้มาสนทนา อดีตกำนันประนอมไขคำตอบให้กับข้อสงสัยดังกล่าว “ตั้งแต่ปี 39 เป็นต้นมา ผมได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการกองทุน SIF จังหวัด ได้เงินจากอเมริกา ได้มาร้อยล้าน แล้วก็แบ่งไปทั่วประเทศ ผมก็ขอมาทำโครงการ เพื่อการฝึกอบรมเด็กให้สืบทอดวัฒนธรรม ก็ได้มาสองแสนกว่า  ผมก็มาจัดเป็นระบบมากขึ้น คนเฒ่าคนแก่ที่มา ให้วันละห้าสิบบาท เด็กที่มาเรียนที่นี่

“ตอนนั้น ทำโครงการไปร้อยคน ก็ได้เงินเยอะหน่อย แต่เด็กมาจริงๆ ก็สามสิบสี่สิบ ยี่สิบสามสิบ คือมาเสาร์อาทิตย์ ให้เด็กมาอยู่ที่ศูนย์ ตั้งแต่เด็กเล็กไปถึงเด็กโต เอาผู้เฒ่าผู้แก่มาสอนรำ เย็บปักถักร้อย อยากสอนอะไรสอน อยากเรียนอะไรเรียน ไม่ใช่ระบบชั้นเรียน ใครสนใจก็เอา แรกๆ เด็กไม่สนใจ มาเพราะมีตังค์ให้ เช้ากินข้าว บ่ายกินขนม ไม่ได้เลี้ยงรวดเดียว หากเลี้ยงรวดเดียว ก็กลับ แต่หากไม่รอกินขนม บ่ายก็กลับ หากรอกิน บ่ายก็อยู่ ก็ให้เขามาช่วยฝึกซ้อม รำลาว รำไทย เปิดวีดิโอรำวงมาตรฐาน เด็กที่นี่รำสวย เคยพาไปงานที่กรุงเทพ… รำทั้งลาวโซ่ง ทั้งรำวงมาตรฐาน งบประมาณสองแสนกว่าบาท ได้หลายเดือน แต่พอหลังๆ ครูเริ่มขี้เกียจ ไม่ทำข้าวเลี้ยง แต่ให้เป็นตังค์ หัวละยี่สิบบาทค่าข้าวค่าขนม ทำเองก็พอกิน …ขี้เกียจหุงข้าว ขี้เกียจทำขนม ให้คนละยี่สิบ กลางวันก็กลับไปกินข้าวบ้าน หรือกลับไปกินก๋วยเตี๋ยวข้างนอก ชามละสิบบาทสิบห้าบาทก็เหลือตังค์กลับบ้านด้วย แต่ใจจริงๆ ต้องการให้เด็กอยู่ที่นี่ อยู่นานที่สุด พ่อแม่เห็นเด็กอยู่ที่นี่ก็ดีใจด้วย”

ในข้อนี้ ผู้เขียนคิดว่า ศูนย์วัฒนธรรมฯ มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการไม่น้อย เพราะกิจกรรมหรือโครงการเคยวางเอาไว้ว่า จะช่วยส่งเสริมการสืบทอดวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กลับขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จะมาจากภายนอก ฉะนั้น การสืบทอดวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ประเพณีจะสืบทอดผ่านเวทีแบบศูนย์วัฒนธรรมแต่ประการเดียว เพราะในมิติอื่นๆ ของชุมชน งานประเพณี โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและภาษาพูดยังคงเป็นแบบแผนวัฒนธรรมมีอยู่ร่วมกันระหว่างสมาชิกในชุมชน (สุมิตร ปิติพัฒน์และเสมอชัย พูลสุวรรณ 2540) อย่างไรก็ดี หากกล่าวเฉพาะกิจกรรมทางวัฒนธรรมในบริบทของศูนย์วัฒนธรรมฯ เพื่อการสืบสานวัฒนธรรมระหว่างหมู่สมาชิกของชุมชนแล้ว ความสม่ำเสมอของการทำกิจกรรมกลับขึ้นอยู่กับผู้นำหรือหน่วยงานที่จะเห็นความสำคัญของการทำกิจกรรม

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อมา เมื่ออดีตกำนันประนอมจะเกษียณอายุ กำนันได้หาวิธีในการบริหารศูนย์วัฒนธรรมฯ โดยให้หน่วยงานการปกครองในพื้นที่ดูแล “ตอนแรกยกให้ อบต. เขาย้อย เขาดูแลก่อน มันอยู่นอกเขต เขาไม่สนใจเรื่องนี้ นายก อบต. ใหม่ เขาไม่เอา แล้วมาคุยกับเทศบาล เขารับไป เทศบาลก็มีงบประมาณ ในการปรับปรุงพื้นที่” ต่อเมื่อกำนันเกษียณ “เวลานั้น ผมเกษียณแล้วจริงๆ ตอนที่ผมมอบงานให้เทศบาล ผมก็ทำแผนงานออกไป ผมเป็นประธานศูนย์ฯ จะได้เคลื่อนงานต่างๆ ได้ หากคนอื่นมาเคลื่อน คนอื่นก็ไม่เข้าใจ ทีนี้ การเมืองท้องถิ่นกับกำนันไม่ถูกกันเท่าไร เขาเปลี่ยนแปลงหมด ไม่เอาผม แม้กระทั่งเป็นที่ปรึกษาก็ยังไม่เอา คนไม่ค่อยลงรอยกัน ไม่เอา เราก็ถอยเลย

ในเบื้องต้นนี้ ผู้เขียนให้น้ำหนักของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำที่ตอบสนองกับการเปิดเวทีสื่อสารกับผู้คนภายนอกมากกว่า นั่นหมายความว่า คุณค่าของ “เรือนลาว” ที่สร้างขึ้นโดยความศรัทธาในตัวผู้นำ และความต้องการการยอมรับจากสังคมในระดับที่ใหญ่กว่าท้องถิ่น ปัจจัยทั้งสองน่าจะเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านพยายามสร้าง “พื้นที่เชื่อมต่อ” (contact zone) กับสาธารณชน หรือกล่าวได้ว่าเป็นการหาเวทีให้กับตัวตนทางวัฒนธรรม ที่ไม่อาจแสดงออกอย่างเปิดเผยได้ก่อนหน้านี้ “สมัยผมเป็นเด็กๆ พูดลาว ครูตี ต้องพูดไทย เหมือนบังคับคนทั่วประเทศให้พูดไทย บังคับเขาพูดหมด มายุคหลังที่เราเริ่มมีอีโคทัวร์ที่เริ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ให้หัดพูดลาว เขียนหนังสือลาว สอนหนังสือ คือมีการเรียนรู้ที่นี่”

แม้จะมีการเตรียมการ มองหาโครงสร้างอย่างเป็นทางการ ดังเช่นที่มีการถ่ายโอนจากหมู่บ้านสู่เทศบาล ในฐานะองค์กรปกครองท้องถิ่น อย่างไรก็ดี การดำรงอยู่หรือความสืบเนื่องในการดูแลศูนย์วัฒนธรรมฯ มาถึงจุดเปลี่ยนได้เช่นกัน จุดเปลี่ยนดังกล่าวส่งผลต่อความรู้สึกของความเป็นเจ้าของ หรือความเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วัฒนธรรม

2. ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย ในการบริหารของเทศบาลท้องถิ่น
ภาพของศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อยหลังจากที่ถ่ายโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลเขาย้อย มาจากการพูดคุยกับคุณศิริพร พูลสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศบาลตำบลเขาย้อย แม้ทำงานมาได้เจ็ดถึงแปดปี แต่คุณศิริพรสามารถบอกเล่าถึงภาพของศูนย์วัฒนธรรมฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคสมัยของนายกเทศมนตรีได้อย่างน่าสนใจ ภาพความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ปรากฎดังนี้

“ในขณะนั้น นายกเทศมนตรี อรอนงค์ ศิริชัย ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตั้งงบประมาณและเข้าหาจังหวัด หางบประมาณลงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ ได้งบประมาณเป็นจำนวนเท่าไรจำยอดไม่ได้ ก็ได้มาปลูกบ้านไทยทรงดำขึ้นอีกสิบหลังทางด้านทิศตะวันตกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพัก พอเรามีบ้านสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวนสิบหลัง ก็งดที่จะให้นักท่องเที่ยวไปพักในหมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่มีบ้านสิบหลังนั้น เทศบาลเข้ามาบริหารอย่างเป็นทางการ โดยจัดสรรงบประมาณต่างๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล แต่ก็ไม่เพียงพอกับนักท่องเที่ยว หลายคณะไม่ได้เข้ามาพัก แต่มาเยี่ยมชม มาเป็นจำนวนมาก บ้านที่ปลูกไว้ไม่เหมาะสำหรับการให้บริการ ท่านนายกฯ หางบประมาณมาปลูกสร้างอาคารหอประชุมสำหรับไว้ต้อนรับ พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็ใช้อาคารหลังนี้ มีโต๊ะมีเก้าอี้ ก็สะดวกในการทำกิจกรรมมากยิ่งขึ้น” (ศิริพร พูลสวัสดิ์, สัมภาษณ์)

อย่างไรก็ดี ด้วยการก่อสร้างอาคารหอประชุม สะเก็ดไฟจากการเชื่อมต่อโครงเหล็กกระเด็นไปติดหลังคาหญ้าแฝกของอาคารที่สร้างขึ้นในครั้งแรกที่ตั้งศูนย์วัฒนธรรม “เรือนหลังแรกที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างและดูแลกันถูกไฟไหม้จากการก่อสร้างเสียดายของเก่าที่ชาวบ้านเขาให้ๆ มา เราก็ใส่ไว้ ไฟไหมทั้งหมด ก็น่าเสียดาย แล้วมันหาไม่ได้ เขาให้มาแล้วก็มีอยู่แค่นั้น คือเป็นของที่เขาไม่ใช้ในบ้านแล้ว ของเก่ารุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แล้วเป็นของที่อยู่ในศูนย์ฯ ได้ พวกกะเหล็บ แต่พวกนี้ [หมายถึงของจักสาน] เป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ แต่เราเสียดายของเก่า มันมีทั้งผ้า ผ้าบางชิ้น เสื้อผ้า เสียดายของเก่า ตั้งร้อยปีแล้ว แล้วก็ไฟไหม้หมด” (ประนอม สืบอ่ำ, สัมภาษณ์)