ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม 2562 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ขอเชิญประชาชนทั่วไปเข้าชมงานนิทรรศการ “พหลพักตรารามายณะ The Many Faces of Ramayana” ผลงานศิลปะสร้างสรรค์โดยศิลปินนานาชาติ ๙ ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนปาล ฝรั่งเศสและแคนาดา สะท้อนสาระและแก่นแท้ของมหากาพย์รามายณะ ในแบบร่วมสมัยและขนบนิยม เหนือขอบเขตของชาติ วัฒนธรรม และยุคสมัย
นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า มหากาพย์รามายณะ เป็นวรรณคดีที่แพร่หลายในเอเชีย และเป็นต้นแบบของการแสดงออกทางวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบในหลายประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความงดงามของวัฒนธรรมร่วมที่ยังคงความแตกต่างและคงอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงร่วมกับองค์การยูเนสโกโดยการสนับสนุนจากเครื่องสำอางค์โซลวาซู (Sulwhasoo) เห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมร่วมนี้จึงร่วมมือกันจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยร่วมกันในระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อและแนวคิด
“พหลพักตรารามายณะ | The Many Faces of Ramayana” โดยมีกำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม
ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
“พันธกิจสำคัญของประเทศไทยภายหลังเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาขององค์การยูเนสโก ปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ว่าด้วยการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม คือ การส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ทั้งนาฏศิลป์ หัตถศิลป์ มุขปาฐะ ความรู้ทางธรรมชาติ เทศกาล พิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของชุมชนในประเทศไทย หรือประเทศอื่น ประเทศไทยพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและรักษามหากาพย์รามายณะและการแสดงออกทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ที่จะมีขึ้น ให้เกิดความเจริญงอกงามและสะท้อนอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต่อไป” นางพิมพ์รวี กล่าว
โดยแนวคิดในการจัดนิทรรศการ “พหลพักตรารามายณะ” นี้ ดร. อนุชา ธีรคานนท์ เปิดเผยว่า
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแบบและจัดแสดงด้วยการมุ่งสะท้อนภาพการแสดงออกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผ่านทางบทกวี การประดิษฐ์ฉากท้องเรื่อง ดนตรี การพากย์และเจรจา การร่ายรำ พิธีกรรม เทศกาล หัตถศิลป์ และปรัชญาความเชื่อ ผ่านสายตาและการตีความของศิลปินท้องถิ่นที่ต่างมีตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นอิสระ ไม่จำกัดว่าจะอยู่ในประเทศหรือทวีปใด โดยในปีนี้ มีศิลปินจาก 9 ประเทศ
ส่งผลงานเข้าร่วมแสดง ได้แก่ ประเทศไทย มาเลย์เชีย อินโดนีเชีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนปาล ฝรั่งเศส และแคนาดา ที่สื่อถึงพหุวัฒนธรรมเปิดกว้างให้เห็นโลกทัศน์ที่หลากหลาย และตั้งใจให้ผู้ชมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ได้ร่วมชื่นชมมรดกร่วมทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่เป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
ด้าน นายชิเกรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวว่า การยอมรับความหลากหลายของการแสดงออกทางวัฒนธรรมผ่านศิลปะจึงไม่ใช่เพื่อพัฒนาศักยภาพของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการพัฒนาสังคมโดยรวม เพื่อนำไปสู่สังคมโลกที่เปิดกว้างและยั่งยืน ความหลากหลายของผลงานในนิทรรศการนี้มุ่งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ เพื่อเข้าใจ และเพื่อชื่นชมยอมรับกันและกันและนำไปสู่สันติวัฒนธรรม
ในส่วนของผู้สนับสนุน นางหฤดี วรพงศ์พิสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไปผลิตภัณฑ์ โซลวาซู ประเทศไทยโดย บริษัท อมอร์แปซิฟิค กล่าวว่า โซลวาซูเชื่อว่าทุกคนมีความงามที่แท้จริงในแบบของตนเอง ศิลปะก็เช่นกัน ผลงานทุกชิ้นต่างมีความหมาย และมิติมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ เสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะและความคิดนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการมีชีวิตอย่างมีความหมาย และดีใจเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมและองค์การยูเนสโกต่างเห็นคุณค่าและสร้างพื้นที่การแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ให้กับศิลปินในครั้งนี้
หลังจากที่องค์การยูเนสโกได้รับการประกาศ โขน ขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติในปี พ.ศ.2561 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ได้จัดทำแผนงานและกิจกรรมสำหรับเฉลิมฉลองโขน ตลอดปี 2562 ซึ่งรวมถึง การยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการโขน การเผยแพร่
องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเสวนา นิทรรศการ การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อภาพยนตร์แอนิเมชั่นรวมทั้งการจัดทำคลังข้อมูลดิจิทัล และจัดงานมหกรรมการแสดงโขน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค