ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน

By | 26/04/2021

บ้านหัวเขาจีน อยู่ใน หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยยางโทน เขตอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีตรงเขตเชื่อมต่อกับจังหวัดเพชรบุรี โดยบ้านหัวเขาจีน เป็นนามเรียกขาน ถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่ม ชนชาติพันธุ์หนึ่งเรียกว่า “ไทยทรงดำ” ตามประวัติกล่าวว่า ชาวไทยทรงดำ ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากดินแดนที่ห่างไกลและได้เข้ามาจับจองในขณะนั้น เป็นหมู่บ้านที่ยังคงรักษา และอนุรักษ์ ประเพณี วัฒนธรรมการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิต แบบดั้งเดิมของชาวบ้านไทยทรงดำไว้อย่างเหนียวแน่น จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรี คุณสามารถเดินทางท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตและเลือกซื้อผ้าขาวม้าทอมือ ผ้าซิ่นลายแตงโม และผลิตภัณณ์อื่นๆ ได้ที่นี่ นอกจากนี้ห่างออกไปอีก 1 กม. จะเห็นภูเขาหัวเขาจีนอยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดคีรีวงก์ อยู่ในเขตรอยต่อจังหวัดเพชรบุรี และอีกด้านหนึ่งของเขาจะมีนกพิราบหลายพันตัวบินเขาออกจากรังในช่องเขาหัวเขาจีนเป็นภาพน่าแปลกที่มีนกรวมตัวกันได้มากขนาดนี้

เรื่องเล่าขาน นามชื่อหมู่บ้าน

“บ้านหัวเขาจีน” เล่าขานตำนานต่อกันมาว่า เนื่องจากบ้านหัวเขาจีนในอดีตจะมีทะเลล้อมรอบและได้มีพ่อค้าชาวจีนำเรือสำเภามาซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าบริเวณนี้ แต่ได้เกิดอุบัติเหตุเรือสำเภาแตก หัวเรือมาติดอยู่กับเขา จึงเรียกว่า หัวเขาจีน ต่อมาได้ใช้เป็นชื่อหมู่บ้านว่า“บ้านหัวเขาจีน” มาจนถึงปัจจุบันนี้

วิถีชีวิตความเป็นอยู่

บ้านหัวเขาจีน มีความเป็นอยู่แบบชนบทประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม มีความรัก ความสามัคคี และเอื้ออาทรต่อกัน โดยมีวัฒนธรรมและประเพณีที่งดงามเป็นศูนย์รวมจิตใจ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถืศาสนาพุทธและมีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ (ผีบ้านผีเรือน) จะมีการเซ่นไหว้กันในเดือนหก แปด สิบสองของทุกปี ซึ่งชาวไทยทรงดำ(ลาวโซ่ง) เรียกว่า เสนบ้าน เสนเรือน สมาชิกในครอบครัวจะได้รับการสอนให้รู้จักและนับถือผีบรรพบุรุษประจำตระกูลของตน ทุกครอบครัวสมัยอดีตกำหนดให้ ครอบครัวที่เป็นต้นผี(ผีต๊าว)โดยมีการสืบทอดตามบรรพบุรุษ ถ้าผู้ที่ได้รับการสืบทอดเสียชีวิตเรียกว่า ผีผู้ต๊าว เวลาเซ่นไฟว้ต้องฆ่าควายเซ่นไหว้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นคนลาวโซ่งทั่วไป ถ้าเสียชีวิตเรียกว่า ผีผู้น้อย ฆ่าหมูเวลาเซ่นไหว้ ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดประเพณี และการกระทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดสิริมงคล โชคดีและมีความสุขในครอบครัว ญาติพี่น้องที่อยู่ไกล หรือใกล้ จะต้องกลับมาร่วมประกอบพิธี

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชาวไทยทรงดำมีพื้นฐานการทอผ้าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่ทอผ้าใช้ในครัวเรือน โดยมีผ้าซิ่นลายแตงโม ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของชนเผ่ามีการสืบทอดภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นหลัง จึงเกิดพัฒนาการการทอผ้าที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์และความต้องการของผู้ที่สนใจ
การทอผ้าขาวม้า คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาการทอผ้าในชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำเปลเด็ก คาดเอว โพกหัว เสาฉัตรในพิธีต่างๆ ฯลฯ ดังนั้น ชุมชนจึงเกิดความคิดเพื่อรวมกลุ่มในการทอผ้าเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับครอบครัว ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือได้รับความสนใจจากบุคคลภายนอกเนื่องจากมีสีสันที่สวยสดงดงาม สีไม่ตก

การแต่งกาย

สมัยก่อนลาวโซ่งมีการแต่งกายโดยนำผ้าฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นฝ้ายโดยนำมาทอผ้าพื้นสีขาวนำสีธรรมชาติมาย้อม เช่น เปลือกไม้ต่างๆ (ต้นประดู่, ต้นคราม ลูกมะเกลือ) นำมาย้อมเพื่อให้เกิดสีสันบนผืนผ้า อดีตชาวไทยทางดำ(ลาวโซ่ง) ส่วนใหญ่การแต่งกายด้วยเครื่องนุ่มห่มที่มีสีดำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยทรงดำก็ว่าได้ ชาวไทยทรงดำยังนับถือ ผีบรรพบุรุษ หรือผีประจำเรือนของตนเองอีกด้วยเชื่อว่า ผีเรือน คือผู้คุ้มครองปกป้อง ผู้คนและบ้านเรือนให้อยู่ร่วมกันได้ และยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์

สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

กลุ่มสตรีทอผ้าไทยทรงดำ เกิดขึ้นจาการรวมกลุ่มของสตรีในหมู่บ้านที่มีความรู้และความสามารถในการทอผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในชุมชน ซึ่งการรวมกลุ่มทอผ้าไทยทรงดำจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2542 โดยความรู้ ความสามารถของสตรีในหมู่บ้านในการพัฒนาการทอผ้าจากพื้นบ้าน เช่น ผ้าลายแตงโม ผ้าขาวม้า ผ้าเปียว เสื้อฮี เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือไทยทรงดำที่มีความสวยงามและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปซึ่งการดำเนินกิจกรรม จากวิถีชีวิตของชาวบ้านหัวเขาจีนได้น้อมนำปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช(รัชกาลที่ 9) มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเริ่มจากความพอประมาณ คือ ทำบนพื้นฐานความรู้ความสามารถและเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบความพอเพียง โดยเน้นการให้ความรู้ ความสามารถที่มีอยู่อย่างมีเหตุผล คือ การรวมกลุ่มทอผ้าไทยทรงดำเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี