ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ’ ปรับตัวรุกออนไลน์ รับวิถี ‘New Normal

By | 06/07/2020

การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบให้การใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ แม้แต่หน่วยงานส่งเสริมความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน อย่าง‘ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ’ ก็ต้องปรับตัวรับวิถี New Normal เมื่อต้อง “เว้นระยะห่างทางสังคม” หรือ Social Distancing เช่นกัน

ภายใต้การนำของ กู้ หงซิง ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์, Facebook, Line, WeChat, YouTube, Twitter, TikTok ได้กลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้ต้อง“งด”จัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก

“ขณะนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าเมื่อใดการระบาดของไวรัสจะสิ้นสุด แม้สถานการณ์ในจีนจะควบคุมได้แล้ว แต่สถานการณ์ทั่วโลกยังยากที่จะคาดการณ์ การจัดกิจกรรมที่ต้องมีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก อาจจะต้องพบกับข้อจำกัดไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น การสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์จะกลายเป็น New Normal ที่จะเกิดขึ้น” กู้ หงซิง ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปรับตัวของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯกับ TAP Magazine

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งทั้งสองประเทศต่างดูแลช่วยเหลือกันและกัน ทั้งการส่งกำลังใจ บริจาคสิ่งของต่างๆ ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าซาบซึ้งใจ ในฐานะสื่อกลางในการเชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯได้เป็นสื่อกลางในการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้อย่างเต็มที่ โดยจัดทำคอนเทนต์พิเศษเกี่ยวกับ COVID-19 ซึ่งมีทั้งนิทรรศการภาพการต่อสู้กับ COVID-19 ของจีนและทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับกรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมณฑลหูหนาน จัดนิทรรศการศิลปะ “งามสง่าหูเซียง วรรณกรรมสู้โรค” รวบรวมผลงานศิลปะทางออนไลน์ เพื่อนำไปเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆของศูนย์ฯ โดยเปิดให้คนไทยร่วมส่งผลงานเข้าประกวดด้วย นอกจากนี้ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ ยังได้เผยแพร่เนื้อหาสาระเกี่ยวกับประเทศจีนและวัฒนธรรมจีน เช่น เทศกาลวันแม่ วันพยาบาลสากล และ 24 ฤดูกาลของจีน ผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน

• เดินหน้าหลักสูตรภาษาจีน-กู่เจิงออนไลน์

การจัดกิจกรรมฝึกอบรมถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ แต่เนื่องจากผลกระทบ COVID-19 จึงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-ไทยได้ตามปกติ ทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ จึงได้ริเริ่มโครงการการเรียนการสอนออนไลน์ โดยเปิดคอร์สเรียนภาษาจีนออนไลน์ 7 คอร์ส โดยใช้วิดีโอสื่อการสอนวิชาภาษาจีน 100 ชุด จัดทำโดยศาสตราจารย์จิตติภัณฑ์ ซื่อหมิน ผู้อำนวยการโรงเรียนภาษาเมธีจีน (MCA) ซึ่งรวบรวมจากประสบการณ์ในการสอนหนังสือมามากกว่าสิบปีของศาสตราจารย์หลี่ บวกกับการวิเคราะห์ความชอบของคนไทยที่สรุปออกมาเป็นหลักสูตรพื้นฐาน โดยมีอาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ พิธีกรชื่อดังรับหน้าที่เป็นผู้บรรยาย เหมาะมากกับคนไทยที่อยากเรียนรู้ภาษาจีนเบื้องต้น ระหว่างช่วงที่กักตัวอยู่บ้าน

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคอร์สเรียนกู่เจิงออนไลน์ 3 คอร์ส ฝึกสอนโดยอาจารย์หลี่ หยาง นักดนตรีกู่เจิงที่มีชื่อเสียงและมีแฟนคลับในไทยจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นพระอาจารย์สอนกู่เจิงถวาย’สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี’

ในช่วง COVID-19 ซึ่งไม่สามารถเปิดให้บริการห้องสมุดได้ตามปกติ ทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ ยังได้เปิดให้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนใช้งานห้องสมุดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ library.cccweb.org โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผู้อ่านในไทยสามารถเข้าไปอ่านหนังสือออนไลน์ของจีน ซึ่งมีเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งหนังสือ นิตยสาร สื่อต่างๆคอร์สเรียนและนิทรรศการ อีกทั้งยังรองรับภาษาจีนและภาษาอังกฤษ

• กิจกรรมที่น่าสนใจในอนาคต

สำหรับทิศทางในอนาคต ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ จะยังคงดำเนินการขยายช่องทางและทยอยเปิดโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังการระบาดของ COVID-19ในปีนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ ยังได้เตรียมจัดงานเฉลิมฉลองหลายงาน ทั้งก่อนหน้าและหลังวันที่ 1 ก.ค.

“ เดิมทีเราตั้งใจจะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองแบบออฟไลน์อย่างยิ่งใหญ่ เช่น เชิญศิลปินจากจีนมาเปิดการแสดงที่ไทย แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมเหล่านี้ได้ตามปกติ ศูนย์ฯจึงเตรียมจะเปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์มของตัวเองในการจัดกิจกรรมออนไลน์เพื่อสะท้อนมิตรภาพระหว่างไทย-จีน และการร่วมมือกันต่อสู้ COVID-19 ของทั้งสองประเทศแทน เช่น การจัดแสดงนิทรรศการประมวลภาพประวัติศาสตร์การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย 45 ปี, นิทรรศการภาพการจับมือร่วมกันต่อสู้ COVID-19 ของทั้งสองประเทศ, การประชันบทเพลงมิตรภาพจีน-ไทยแบบออนไลน์ ฯลฯ”

นอกจากนี้ ทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ ยังเตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญอื่นๆ เพื่อให้คนไทยเข้าใจวัฒนธรรมจีนมากยิ่งขึ้น เช่น เทศกาลบ๊ะจ่าง รวมถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งปีที่แล้วการจัดงาน “ชมจันทร์ สานสัมพันธ์ไทย-จีน” ที่พัทยา จ.ชลบุรี ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยในปีนี้เทศกาลไหว้พระจันทร์ตรงกับวันชาติจีน 1 ต.ค. ซึ่งทางศูนย์ฯอยู่ระหว่างวางแผนเตรียมจัดกิจกรรม “ภิรมย์ชมจันทร์” ซึ่งมีความแปลกใหม่น่าสนใจ

อีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลท์ คือ “กิจกรรมเทศกาลภาพยนตร์จีนและสัปดาห์แลกเปลี่ยนภาพยนตร์และโทรทัศน์จีน-ไทย” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องปีนี้เป็นครั้งที่ 15 การจัดงานปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับเกียรติจาก อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, ดารานักแสดง และผู้กำกับชื่อดังจีน-ไทย เข้าร่วมในพิธีเปิด มีการจัดฉายภาพยนตร์จีนฟอร์มยักษ์เรื่อง The Wandering Earth และภาพยนตร์จีนไทยยอดนิยมอีกกว่า 10 เรื่อง จัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์จีน-ไทย งานเสวนาและงานประกวดคลิปสั้น รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบภาพยนตร์มาเข้าร่วมได้เป็นจำนวนมาก สำหรับการจัดกิจกรรมในปีนี้ วางแผนจะจัดงานช่วงปลายเดือน ต.ค. หวังว่าในตอนนั้นจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ทางศูนย์ฯจึงได้เตรียมแผนการจัดงานแบบออนไลน์เอาไว้ด้วย นอกเหนือจากการจัดงานแบบออฟไลน์ที่เคยจัดขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ถือเป็นศูนย์วัฒนธรรมจีนแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถือเป็นศูนย์วัฒนธรรมจีนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน โดยตั้งอยู่บนถนนเทียมร่วมมิตร ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ ยึดมั่นในแนวคิด “คุณภาพ แพร่หลาย มิตรภาพ ความร่วมมือ” วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมจีน ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจีน นำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีน กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย และส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชนและรัฐบาลทั้งสองประเทศ สถาปัตยกรรมของศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ยังได้ผสมผสานวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมของไทยและจีนอย่างลงตัว สังเกตได้จากหลังคาที่เป็นทรงจีน และชายคามีลักษณะแบบไทย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ ได้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมทั้งได้เปิดสอนภาษาและฝึกอบรมทางวัฒนธรรมจีนหลากหลายรูปแบบ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมจีนและเข้าใจประเทศจีนสำหรับคนไทย

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำหน้าที่ของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ จะเป็นสะพานที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มความเข้าใจอันดีของผู้คนสองประเทศ โดยศูนย์ฯ จะเดินหน้าอย่างสุดความสามารถในการสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆของไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรด้านวัฒนธรรม แวดวงวิชาการ สถานศึกษา บุคคลและหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เพื่อช่วยให้การประชาสัมพันธ์เผยแพร่วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนในไทยเป็นไปอย่างราบรื่น เสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ และยกระดับความสัมพันธ์ไทยจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” กู้ ซิงหง ผอ.ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ กล่าว

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ’ ปรับตัวรุกออนไลน์ รับวิถี ‘New Normal

ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ