ปีที่สร้าง : สร้างในต้นพุทธศตวรรษที่ 16
• รัชสมัย : รัชสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 5
• ศิลปะ : เป็นศิลปะแบบบันทายสรี
• ศาสนา : ศาสนาฮินดู ไศวนิกาย (บูชาพระศิวะ)
• ตามจารึกที่ปราสาทบันทายสรีกล่าวว่าปราสาทแห่งนี้สร้างใน พ.ศ. 1510 โดยยัชญวราหะ
ซึ่งเป็นพราหมณ์นักปราชญ์ เมื่อพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 เสด็จสวรรคต พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ซึ่งเป็นราชโอรสจึงขึ้นครองราชย์แทน เนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ยังทรงพระเยาว์อยู่ พราหมณ์ยัชญวราหะ จึงได้ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นพระอาจารย์ให้กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ไปพร้อมๆ กัน พราหมณ์ยัชญวราหะได้ทูลขอที่ดินแปลงหนึ่งจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 เพื่อมาสร้างปราสาทเพื่อบูชาพระศิวะ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎรและเป็นที่น่าสังเกตว่าปราสาทที่พระเจ้าแผ่นดินสร้าง กับปราสาทที่เสนาบดีหรือข้าราชการชั้นสูงสร้างจะต่างกันที่ฐาน ปราสาทที่พระเจ้าแผ่นดินสร้าง จะสร้างอยู่บนฐานที่ทำเป็นชั้นสูง หรือสร้างบนเนินเขาดังเช่น นครวัด ที่ส่วนปรางค์ประธานจะต้องตั้งอยู่ฐานชั้นสูงหรือที่พนมบาแค็ง ที่ปราสาทสร้างอยู่บนเนินเขา สำหรับปราสาทบันทายสรี ผู้สร้างเป็นราชครู จึงต้องสร้างปราสาทบนเนินดินอาจทำเป็นฐานเตี้ยๆ ยกพื้นขึ้นเพื่อรองรับตัวปราสาทเท่านั้น
ปราสาทบันทายสรี เป็นเทวสถานขนาดเล็ก แต่มีความงามทางด้านลวดลายเป็นเลิศ ศิลปะมีลักษณะพิเศษจนต้องจัดเป็นศิลปะสมัยหนึ่งโดยเฉพาะ ศิลปะแบบบันทายสรีถูกจัดให้อยู่ในยุคราว พ.ศ. 1510-1550 ก่อสร้างด้วยหินทรายสีชมพู เนื้อละเอียด การสลักลวดลายดูอ่อนช้อย ลายคมชัด ดูมีชีวิตชีวา
ภาพสลักพระศิวะนาฎราช เมื่อผ่านโคปุระซึ่งเป็นกรอบประตูมีความสูงประมาณ 2.50 เมตร ทางเข้าปูลาดด้วยหินทราย กว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร ไปตลอดแนวประมาณ 40 เมตร สองข้างทางมีเสานางเรียงสูงประมาณ 1.50 เมตร ไปจนถึงโคปุระชั้นใน ที่หน้าจั่วของโคปุระชั้นในนี้เป็นลายก้านขดคล้ายกับปั้นลมที่ปราสาทเขาพระวิหารมาก เพียงแต่ที่ปราสาทบันทายสรีมีขนาดเล็กกว่า
หน้าบันของโคปุระชั้นใน สลักเป็นภาพพระคชลักษณมี ในภาพพระลักษณมีประทับอยู่ตรงกลางมีคชสารสองเชือกชูงวงประสานกันโดยรอบเป็นลวดลายพฤกษานานาพรรณ สลักได้คมชัดและดูอ่อนช้อย ที่ทับหลังทำลวดลายพวงมาลัย ลักษณะเด่นของศิลปะแบบบันทายสรีตรงกลางพวงมาลัยสลักให้แอ่นอ่อนลงมา ไม่ทำเป็นแนวตรงๆ ดังศิลปะยุคอื่นๆ เมื่อเข้าสู่โคปุระชั้นในจะพบว่าส่วนฐานของปราสาทประดิษฐานด้วยเทวาลัยอยู่ตรงหน้า มีประติมากรรมลอยตัวรูปโคนนทิ ด้านหลังของเทวาลัยมีปราสาทสามหลังอยู่บนฐานเดียวกัน มีหอบรรณาลัย(ห้องสมุด)อยู่ทั้งซ้ายและขวา
จุดเด่นของโคปุระ อยู่ที่หน้าบัน มีภาพสลักพระศิวนาฎราช ภาพการร่ายรำของพระศิวะนับว่ามีบทบาทสำคัญในคติความเชื่อของผู้นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย พระศิวะในภาพหนึ่งเศียร สิบกร พระเกศาทรงฏามกุฎ ร่ายรำอยู่เหนือพวงพฤกษา
การร่ายรำของพระศิวะเป็นที่เลื่องลือและยกย่องของเหล่าเทพทั้งมวลถึงความสวยงามน่ายำเกรง นอกจากนี้ ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูยังเชื่อว่าจังหวะการรายรำของพระศิวะอาจบันดาลให้เกิดผลดีและผลร้ายแก่โลกได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องอ้อนวอนให้พระองค์ฟ้อนรำในจังหวะที่พอดี โลกจึงจะร่มเย็นเป็นสุข หากพระองค์โกรธกริ้วด้วยการร่ายรำในจังหวะที่รุนแรงแล้วก็ย่อมจะนำมาซึ่งภัยพิบัติแก่โลกนานัปการ
บรรณาลัย ถัดจากโคปุระมาทางซ้ายหรือทิศใต้ เป็นบรรณาลัยที่อยู่ในสภาพที่สวยงามและดูสมบูรณ์มาก ตั้งอยู่บนฐานยกพื้นเล็กน้อย ลักษณะทำเป็นสองชั้น จุดเด่นของบรรณาลัยนอกจากกรอบประตูเสาประดับกรอบประตูทำเป็นวงประดับด้วยลายใบไม้ศิลปะบันทายสรี ที่หน้าบันสลักเรื่องรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฑ์ยกเขาไกรลาศให้เข้าที่ โดยเรื่องมีอยู่ว่า ครั้งที่ท้าววิรุฬหกสำคัญผิดไปว่าพระศิวะเสด็จออก พอขึ้นบันไดเขาไกรลาศขั้นหนึ่งก็กราบถวายบังคม ขณะนั้นมีตุ๊กแกตัวหนึ่งเกาะอยู่ตรงบันดี่วิมานพระศิวะ ตุ๊กแกเห็นท้าววิรุฬหกหลงกราบทุกขั้นบันไดก็ให้นึกสนุก จึงแกล้งกระแอมให้คล้ายเสียงคน ทำให้ท้าววิรุฬหกต้องถวายบังคมทุกขั้นบันได ครั้นเห็นตัวและรู้ว่าเป็นตุ๊กแกจึงโกรธ จึงถอดสังวาลออกขว้าง หวังจะประหารตุ๊กแกแต่พลาดเลยไปถูกเขาไกรลาศจนเอียงไป ทั้งพระศิวะและพระอุมาเทวีต่างตื่นตกพระทัยเข้าใจว่าเกิดแผ่นดินถล่ม พอพระองค์ทราบความก็ได้กะเกณฑ์เหล่าเทพเทวดามาช่วยยกเขาไกรลาศขึ้นตั้งไว้อย่างเดิม ความชอบนี้ทศกัณฑ์ได้ทูลขอพระอุมาเทวีจากพระศิวะ ซึ่งพระองค์ทรงประทานให้ ทศกัณฑ์ดีใจจึงได้อุ้มพระอุมาไปจากวิมานพระศิวะ แต่ไปได้สักพัก ทศกัณฑ์รู้สึกประหนึ่งถุกไฟสุมทรวงและร้อนผ่าวไปทั้งศีรษะ มิอาจเดินทางต่อไปได้ จึงได้พาพระอุมาเทวีมาคืนแด่พระศิวะ พระศิวะก็ทรงเมตตา ประทานนางมณโฑให้เป็นบำเหน็จ ในภาพสลักที่หน้าบันจะเห็นภาพพระศิวะกำลังอุ้มพระอุมาเทวีอยู่บนตัก ด้วยความตื่นพระทัย ท่ามกลางเขาไกรลาศที่เอียงลง มีพวงช้างและสิงห์ซึ่งจัดว่าเป็นเจ้าแห่งพลังต่างตกใจเงยหน้าทำท่ากลัวเกรง นับได้ว่าเป็นภาพสลักที่มีชีวิตชีวาที่สุดภาพหนึ่ง
ความสวยงามของปราสาทบันทายสรีนี้ช่างในสมัยโบราณได้สร้างอย่างบรรจงและยังได้รวบรวมเอาศิลปะในยุคเก่าหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแบบพระโค ศิลปะแบบบาแค็ง ศิลปะแบบเกาะแกร์และแปรรูป มาอนุรักษ์ไว้ ณ ปราสาทแห่งนี้ ดูได้จากเสาติดกับผนัง เสาประดับกรอบประตู ทับหลังและหน้าบัน สำหรับภาพเทวดาและเทพธิดาที่สลักอยู่ประจำผนังเทวลัย ก็มีลักษณะน่าชมมาก เนื้อตัวไม่ใหญ่โค แต่ดูอวบอิ่ม ประดับด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ดูสวยงามมาก ยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว นางอัปสรยืนอยู่ในท่าที่ชวนพิศเอียงสะโพกเล็กน้อย ทรงผมเกล้าเรียบๆ ประดับด้วยศิราภรณ์เล็กน้อย มีต่างหูประดับฝีมือประณีต ตุ้มหูคล้ายพวงอุบะ (มาลัย) ยาวเสมอไหล่ เอียงคอเล็กน้อยมือจับจีบดอกบัว ใส่กำไลทั้งมือและท้าว สวมผ้ามีกระเปาะจีบอยู่ด้านหน้า รอบๆ สะโพกมีลายคล้ายดวงดอกไม้ ดูแล้วเป็นธรรมชาติมาก